สาระสุขภาพ
08Jan
2018
คำแนะนำผู้เป็นโรคเบาหวาน (Diabetes)
คำแนะนำผู้เป็นโรคเบาหวาน (Diabetes)
1) ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับโรค |
โรคเบาหวาน หมายถึง การที่ร่างกายมีระดับน้ำตาล (กลูโคส) ในเลือดสูงกว่าปกติ สาเหตุจาก อินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างมาจากตับอ่อนไม่สามารถทำหน้าที่ในการนำน้ำตาลในเลือดเข้าไปในเซลล์ต่างๆของร่างกาย เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง สืบเนื่องจากร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน และตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอ หรือไม่มีการผลิตอินซูลิน จึงไม่สามารถนำกลูโคสเข้าสู่เซลได้อย่างเต็มที่ ทำให้ระดับน้ำตาลยังคงอยู่ในเลือดสูง ถ้ามีการขาดอินซูลินอย่างสมบูรณ์ (เบาหวานชนิดที่ 1) หรือถ้าอินซูลินทำงานไม่มีประสิทธิภาพ (เบาหวานชนิดที่ 2) จะทำให้น้ำตาลเกิดการสะสมเพิ่มมากขึ้นในเลือด จนในที่สุดน้ำตาลจะเข้าสู่ปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการบ่งชี้ว่าเป็นเบาหวาน คือ ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ หิวบ่อย เหนื่อยง่าย อาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ คือ เป็นแผลหายช้ามีการติดเชื้อบ่อย ๆ สายตาพร่ามัว น้ำหนักลดปราศจากสาเหตุ
ชนิดของโรคเบาหวาน ประกอบด้วย
เบาหวานชนิดที่ 1
- ระดับน้ำตาลสามารถเปลี่ยนแปลงจากระดับต่ำมากไปสู่ระดับสูงมากได้ในระยะเวลาสั้น ๆ
- ตรวจพบกลูโคสและคีโตนในปัสสาวะ
- ร่างกายซูบผอม
- อาการที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และเกิดขึ้นบ่อย ๆในระยะเริ่มต้น จนทำให้ผู้เป็นเบาหวานเป็นกังวล คือ
· ปัสสาวะบ่อย
· กระหายน้ำ
· หิวบ่อย
· น้ำหนักลดอย่างไม่มีสาเหตุ
· เหนื่อยง่าย
· อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย
· จิตใจสับสน
- พบได้ทุกวัย แต่ส่วนใหญ่พบในอายุต่ำกว่า 40 ปี
- 5-10 % ของผู้ป่วยเป็นเบาหวาน เป็นชนิดที่ 1
- ต้องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองและฉีดอินซูลินเป็นประจำ
เบาหวานชนิดที่ 2
- ระดับน้ำตาลจะอยู่ในช่วงระดับกลางถึงสูงเป็นระยะเวลานาน ๆ
- ตรวจพบกลูโคสในปัสสาวะ
- ส่วนใหญ่ร่างกายจะอ้วน
- อาการที่เกิดขึ้นค่อนข้างช้า ไม่ชัดเจนหรือสังเกตได้ยาก คือ
· ปัสสาวะบ่อย
· กระหายน้ำ
· สายตาพร่ามัว
· ติดเชื้อที่ผิวหนัง ปาก และกระเพาะปัสสาวะบ่อย ๆ
· แผลหายยาก
· เสียวแปล๊บ หรือชาที่ปลายมือ ปลายเท้า
- ส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปี
- 90-95 % ของผู้เป็นเบาหวาน เป็นชนิดที่ 2
- ควรลดปริมาณอาหารลง
- การออกกำลังกายช่วยลดระดับน้ำตาลได้
- อาจต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาลหรือฉีดอินซูลิน เพื่อช่วยในการรักษา
เบาหวานชนิดที่ 3
หญิงตั้งครรภ์มีโอกาสเกิดเบาหวานมากขึ้น เนื่องจากมีฮอร์โมนจากรกหลายตัว ซึ่งมีผลต่อต้านการทำงานของอินซูลิน
เบาหวานชนิดที่ 4
เบาหวานจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง การตัดตับอ่อนทิ้ง โรคของต่อมไร้ท่อบางอย่าง จากยาบางชนิด เป็นต้น ถ้าปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและไม่รักษาให้ระดับน้ำตาลลดลงสู่ระดับปกติทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนระยะเฉียบพลัน คือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว คือเบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไต เบาหวานลงปลายประสาท โรคหลอดเลือดและสมอง ผู้ป่วยเบาหวานควรมีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอย่างน้อยปีละ 1ครั้ง พร้อมทั้งมีการตรวจไขมัน
2) ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค |
- มีประวัติญาติสายตรงเป็นเบาหวาน
- มีประวัติการคลอดบุตรน้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 4 กิโลกรัม
- โรคของตับอ่อน เช่น ตับอ่อนอักเสบ
- การได้รับยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ ยาคุมกำเนิด
- ความอ้วน
- ขาดการออกกำลังกาย
- ความเครียด
- สูงอายุ
- การตั้งครรภ์
3) การรักษา |
หลักสำคัญของการรักษาเบาหวาน คือ พยายามให้สมดุลของการเผาพลาญอาหารให้ปกติหรือใกล้เคียงมากที่สุด ถึงแม้เบาหวานรักษาไม่หาย แต่การรักษาเบาหวานที่มีคุณภาพนั้น จุดประสงค์เพื่อให้ผู้เป็นเบาหวานมีชีวิตที่ยืนยาว ปราศจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และสามารถปรับตัวอยู่กับเบาหวานได้อย่างมีความสุข ซึ่งการรักษาสมดุลของร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกตินั้น ยังต้องควบคุมปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ของโรคเบาหวานอีกด้วย ได้แก่ ความดันโลหิต และไขมันในเลือด
1. FBS หมายถึง ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร เป้าหมาย 90 – 130 มก. /ดล. ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหาร
1-2 ชั่วโมง เป้าหมายน้อยกว่า 180 มอ./ดล.
2. HbA1c (น้ำตาลสะสมหรือค่าน้ำตาลเฉลี่ย) หมายถึง ปริมาณน้ำตาลที่จับกับโปรตีนในเม็ดเลือดแดง (ตรวจทุก 3-4 เดือน) เป้าหมายน้อยกว่า 7 %
3. ความดันโลหิต (Blood Pressure) เป้าหมายน้อยกว่า 130/80 มม.ปรอท
4. ไขมัน LDL-C (ไขมันไม่ดี) เป้าหมาย น้อยกว่า 100 มก. /ดล.
5. Triglyceride (ไตรกลีเซอไรด์) เป้าหมาย น้อยกว่า 150 มก. /ดล.
6. ไขมัน HDL-C (ไขมัน) เป้าหมายมากกว่า 40 มก. /ดล.
7. SGPT (ตรวจการทำงานของตับ) เป้าหมายอยู่ในระดับเกณฑ์ปกติ
8. Creatinine (ตรวจการทำงานของไต) เป้าหมาย อยู่ในระดับเกณฑ์ปกติ
9. Microalbuminuria ตรวจการทำงานของไต เพื่อดูแอลบูมิน (ไข่ขาว) ปริมาณน้อย ๆ ที่รั่วออกมาทางปัสสาวะ เป้าหมายอยู่ในระดับเกณฑ์ปกติ 0-20 มก. /ดล.
4) ข้อควรระวัง |
- ลืมหรือละเลยการรับประทานยา หรือฉีดอินซูลิน
- ลดขนาดยาหรืออินซูลินลง โดยไม่ปรึกษาแพทย์
- เปลี่ยนแผนการรับประทานอาหารใหม่
- รับประทานอาหาร หรือน้ำหวานเพิ่มขึ้น
- ลดหรือละเลยการออกกำลังกาย
5) คำแนะนำอื่น ๆ |
- ผู้เป็นเบาหวานควรได้รับการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ
- เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับโรค
- ออกกำลังกายเสริมในกรณีไม่มีข้อห้าม
- พบแพทย์ตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ
Share With your friends