สาระสุขภาพ
10Jun
2019
กายภาพบำบัดในผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก
กายภาพบำบัดในผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก
1) ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับโรค
ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมนั้น กล้ามเนื้อและเอ็นต่าง ๆ รอบข้อต้องการเวลาที่จะสมานแผล ดังนั้นหลังการผ่าตัด การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา,การเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อขา และการเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของข้อ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันให้ได้มากที่สุด จึงเป็นสิ่งสำคัญการฟื้นฟูสภาพร่างกายและการทำกายภาพบำบัดหลังการผ่าตัด โดยการเริ่มเคลื่อนไหวข้อและฝึกเดินในวันแรกหลังผ่าตัด จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเดินและช่วย เหลือตัวเองได้อย่างมั่นใจ และพร้อมที่จะกลับบ้านดังนั้นผู้ป่วยจึงควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
2) การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย/ผู้ทีความเสี่ยง
1.การดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน
1.1การวางแผ่นเย็น (cold pack) จะช่วยลดอาการบวม และอาการปวดของข้อข้างที่ผ่าตัด วางนานประมาณ 10-20 นาที ประมาณ 3-4 ครั้งต่อวัน หรือหลังจากที่ผู้ป่วยออกกำลังกาย หรือ หลังจากที่ผู้ป่วยไปเดินมาก ๆ
1.2ท่าทางในการนอน หากนอนหงายให้นอนหงายเข่าเหยียดตรง แล้วใช้ม้วนผ้าขนหนูวางไว้ด้านข้างข้อเข่าข้างผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้ขา หมุนออกด้านนอก
1.3 การลงจากเตียง
.jpg)
1.3.1 เขยิบตัวลงจากเตียงไปยังด้านเดียวกันกับขาข้างที่ผ่านการผ่าตัด ออกแรงยันข้อศอกทั้งสองข้างยกตัวขึ้นมานั่งบนเตียง
1.3.2 ขยับขาข้างที่ผ่าตัดลงมาข้างเตียง ตามด้วยขาข้างปกติ ค่อยๆ หมุนลำตัวลงมานั่งข้างเตียง ขณะเคลื่อนย้ายลำตัวตรงไม่โน้มลำตัวมาด้านมาไม่หมุนหรือบิดขาด้านที่ผ่าตัด
1.4การลุกขึ้นยืน
หลังจากที่ผู้ป่วยนั่งห้อยขาข้างเตียงแล้ว ให้นำ Walker มาวางอยู่ด้านหน้าผู้ป่วย แล้วให้ผู้ป่วยใช้มือจับ walkerออกแรงกดที่มือทั้งสองข้าง และขาข้างปกติลุกขึ้นยืน ขาข้างผ่าตัดลงน้ำหนักได้ตามแพทย์สั่ง ขณะลุกขึ้นยืนลำตัวตรงไม่โน้มตัวไปด้านหน้า เพื่อป้องกันการเลื่อนหลุดของข้อสะโพก
1.5การนั่งเก้าอี้
โดยยืนจับ walker ขาด้านหลังสัมผัสเก้าอี้ ยื่นขาข้างผ่าตัดไปด้านหน้า เอื้อมมือด้านเดียวกับขาข้างผ่าตัดมาจับราวเก้าอี้ แล้วจึงปล่อยมืออีกข้างมาจับราวเก้าอี้อีกด้าน ออกแรงกดที่มือค่อยๆ หย่อนตัวลงนั่ง ท่านั่งที่มั่นคงคือ หลังแนบพนักพิง มือจับพนักเท้าแขนทั้งสองข้าง ควรหลีกเลี่ยงเก้าอี้ที่เตี้ยมากๆหรือเก้าอี้ที่บุนวมหนาเป็นพิเศษ
1.6การเดิน
ให้ผู้ป่วยยก Walker ไปวางทางด้านหน้า ในระยะทางที่เพียงพอกับการก้าวเท้าปกติของผู้ป่วย ต้องมั่นใจว่าวางขาทั้ง 4 ของ walker ลงพื้นเรียบร้อย จากนั้นก้าวขาข้างผ่าตัดก่อน โดยก้าวเข้าไปในกึ่งกลางของ Walker ปลายเท้าชี้ไปด้านหน้า ออกแรงกดWalker ด้วยมือทั้งสองข้าง ลงน้ำหนักที่ขาข้างผ่าตัดตามที่แพทย์สั่ง จากนั้นจึงก้าวขาข้างดีตามมา
1.7 วิธีเดินขึ้นบันได
1.ถือไม้ค้ำยันด้านขาที่ผ่าตัด
2.มืออีกข้างจับราวบันได
3.ออกแรงกดที่มือทั้งสองยกข้างที่ดีก้าวขึ้นบันได
4.ขาข้างที่ดีเหยียดตรง
5.ยกขาข้างที่ผ่าตัดก้าวขึ้นไป พร้อมกับไม้ค้ำยัน
1.8วิธีเดินลงบันได
1.ยกไม้ค้ำยันและขาข้างผ่าตัดลงไปบันไดด้านล่าง
2.ออกแรงกดที่ไม้ค้ำยันและราวจับ
3.ก้าวขาข้างปกติตาม
1.9 การออกกำลังกาย
1.9.1 กระดกข้อเท้าขึ้น-ลง นอนหงาย ขาเหยียดตรง กระดกข้อเท้าขึ้นและลง ช้า ๆ 10 ครั้ง
1.9.2 knee press นอนหงาย ขาเหยียดตรง, พยายามเกร็งกล้ามเนื้อต้นขา กดด้านหลังเข่าติดเตียง เกร็งค้างไว้นาน 5 วินาที แล้วคลายออก ทำซ้ำ 10 ครั้ง
1.9.3Straight Leg Raise: นอนหงาย ชันขาข้างดีขึ้น ขาข้างผ่าตัดเหยียดตรง จากนั้นเกร็งกล้ามเนื้อหน้าขาให้เข่าเหยียดตรง แล้วยกขาขึ้นสูงเท่ากับความสูงของขาข้างดีที่ตั้งงอไว้ โดยที่เข่าต้องเหยียดตรงตลอดช่วงของการเคลื่อนไหว แล้วค่อย ๆ วางขาลงช้า ๆ กลับสู่ท่าเริ่มต้น ทำซ้ำ 10 ครั้ง
1.9.4 hip abduction นอนหงาย ขาเหยียดตรง จากนั้นให้กางขาออกไปด้านข้างไม่เกิน 45 องศา โดยขาจะต้องเหยียดตรงตลอดช่วงของการกางขา แล้วยกขากลับสู่ท่าเริ่มต้น ทำซ้ำ 10 ครั้ง ทำทั้งสองด้าน
1.9.5 hip&knee bending นอนหงาย จากนั้นพยายามลากขาข้างผ่าตัดขึ้นมาตั้งในท่าชันเข่า ค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง
1.9.9 hip extension –gluteal set นอนหงาย จากนั้นพยายามเกร็งกล้ามเนื้อสะโพกค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง
1.9.10 hip extension- bridging นอนหงายชันเข่าทั้งสองข้าง ยกสะโพกขึ้นพ้นพื้น ค้างไว้ 5-10 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง
3) ข้อควรระวัง
ในระยะแรก การเคลื่อนไหวจะทำให้ข้อสะโพกตึงเกินไป ซึ่งอาจทำให้ข้อสะโพกเทียมหลุดจากเบ้าสะโพกได้ นักกายภาพบำบัดจะให้คำแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง
1. อย่านั่งไขว้ห้าง หรือวางเท้าข้างที่ผ่านการผ่าตัดข้ามแนวกลางลำตัว ควรนั่งให้เท้าทั้ง 2 ข้างวางอยู่บนพื้น โดยให้หัวเข่าทั้ง 2 ข้างห่างกันเล็กน้อย
2. อย่าหมุนเท้าเข้าด้านใน ควรหมุนเท้าและลำตัวไปพร้อมกัน
3. อย่าก้มตัวเก็บของที่อยู่บนพื้น ควรใช้อุปกรณ์ที่มีด้ามยาวช่วย หรือให้ผู้อื่นหยิบให้ (ไม่ก้มตัวหรืองอสะโพกเกิน 90 องศา)
4. อย่ากางขาเกิน 45 องศา
Share With your friends