สาระสุขภาพ
18Jun
2019
คำแนะนำการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจ
คำแนะนำการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจ
1) ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับโรค
ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ จำเป็นต้องออกกำลังกายเช่นกันภายใต้การแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด โดยหลังผ่าตัดได้ระยะหนึ่งนักกายภาพจะเริ่มให้ออกกำลังกาย เพราะจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อที่ปอด การจับตัวเป็นก้อนของเลือด และการเกิดแผลกดทับ ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ ทั้งนี้การออกกำลังกายควรทำอย่างสม่ำเสมอ
2) การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย
ชนิด เดินทางราบรอบละ 15 นาที , เช้า – เย็น ก่อนการเดินควรอบอุ่นร่างกายอย่างน้อย 5 นาที
ความถี่อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ ถ้าทำได้ทุกวันจะดีที่สุด
ก่อนออกกำลังกาย ตรวจชีพจรควรอยู่ในช่วง 80 - 100 ครั้ง/นาที ความดันโลหิตอยู่ในช่วง 100/60 - 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถ้าชีพจรหรือ ความดันโลหิตผิดปกติ ควรนั่งพัก 15 นาที ถ้าไม่ดีขึ้นงดออกกำลังกาย
วิธีการออกกำลังกาย
1. เริ่มด้วยการเหยียดยืดกล้ามเนื้อ เพื่ออบอุ่นร่างกาย ( warm up )
2. ต่อจากนั้น เดินช้า ๆ จนครบเวลาที่ต้องการ ถ้ารู้สึกเหนื่อยพักระหว่างออกกำลังกายได้
3. เมื่อครบเวลาที่ตั้งเป้าหมายไว้ ให้เดินช้าลงเพื่อ cool down จนหยุดได้
4. จบด้วยการเหยียดยืดกล้ามเนื้อ
หมายเหตุ : ค่อย ๆ เพิ่มเวลาการเดินจนได้ 1 ชั่วโมงต่อวัน ถ้าเดินได้ต่อเนื่องมากกว่า 30 นาทีต่อรอบสามารถเดินได้ 1 รอบต่อวัน
ถ้าท่านสามารถจับชีพจรได้ 1 เดือนแรกหลังผ่าตัด ชีพจรขณะที่ออกกำลังกายเหนื่อยที่สุดไม่ควรเกิน ชีพจรขณะพัก + 30 ครั้ง / นาที ความดันโลหิตสูงสุดขณะออกกำลังกาย ไม่ควรเกิน 180/110 มิลลิเมตรปรอท
ข้อแนะนำในการออกกำลังกาย
1. ในระยะแรก ควรออกกำลังกายโดยการเดินพื้นราบ ไม่ควรเดินขึ้นหรือลง เนินเพราะจะทำให้หัวใจ ทำงานหนักเกินไป
2. ควรแต่งกายให้เหมาะสม คือ สวมร้องเท้ากีฬาและถุงเท้าที่ระบายอากาศได้ดีใส่เสื้อผ้าที่ไม่คับเกินไป
3. เวลาที่เหมาะสมในการออกกำลังกาย คือ ช่วงเช้าและช่วงเย็น หลังมื้ออาหารอย่างน้อย 1 ชั่วโมงครึ่ง ถึง 2 ชั่วโมง ไม่ควรออกกำลังกายในสถานที่ ที่มีอากาศร้อนมาก
4. ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ จิบน้ำก่อน ระหว่าง และหลังการออกกำลังกาย
5. ในระยะแรกไม่ควรออกกำลังกายที่ควบคุมความแรงไม่ได้เช่น เล่นเทนนิส แบดมินตัน ว่ายน้ำ เป็นต้น แต่เมื่อฟื้นฟูสมรรถภาพระยะหนึ่งจนสมรรถภาพร่างกายดีขึ้น อาจกลับไปเล่นกีฬาต่าง ๆ ได้ตามคำแนะนำของแพทย์
คำแนะนำในการทำกิจกรรมอื่น ๆ
• การยกของหนัก ห้ามยกของหนักเกิน 4 กิโลกรัม ในช่วง 2 เดือนแรกหลังผ่าตัด เช่น ถุงใส่ของ กระเป๋า เด็ก สัตว์เลี้ยง ถ้าไม่แน่ใจว่าของที่จะยกน้ำหนักเท่าไร พยายามยกของให้ชิดตัวมากที่สุด
• การขึ้น - ลงบันได ถ้ามีความจำเป็นต้องขึ้นลงบันได ควรปรึกษาแพทย์ว่าสามารถทำได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ในระยะแรกควรขึ้น - ลงตามความจำเป็น และไม่รีบร้อน ควรพักระหว่างขั้น
• การขับรถ เริ่มขับรถทุกชนิดได้ 10 - 12 สัปดาห์หลังผ่าตัด
• การกลับไปทำงาน ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานได้ ขึ้นกับสภาพร่างกาย ความรุนแรงของโรค และลักษณะงานที่ทำสามารถ
แบ่งประเภทตามความหนัก-เบา ของงาน และระยะเวลาได้ดังนี้
ประเภทของงาน |
ระยะเวลาหลังได้รับการผ่าตัด |
งานนั่งโต๊ะ |
3 – 4 สัปดาห์ |
งานหนักปานกลาง |
6 – 8 สัปดาห์ |
งานหนัก |
10 – 12 สัปดาห์ |
ถ้าท่านต้องการทำกิจกรรมในระดับที่หนักขึ้น เช่น ทำสวน เดินขึ้นเขา เล่นกอล์ฟ เทนนิส แบดมินตัน ว่ายน้ำ ควรปรึกษาแพทย์ว่าสามารถ ทำได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ โดยทั่วไปถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด และ ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจอย่างเหมาะสมอาจกลับไปทำกิจกรรมดังกล่าวได้ใน 6 - 12 สัปดาห์
3) ข้อควรระวัง
ควรหยุดออกกำลังกายถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ และปรึกษาแพทย์
- เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก - อ่อนแรง หรือเหนื่อยกว่าปกติ
- ใจสั่น หรือรู้สึกว่าใจเต้นผิดปกติ - หอบเหนื่อย มึนงงศีรษะ จะเป็นลม
- รู้สึกปวด ขัด ตึง บวม บริเวณกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อต่าง ๆ ระหว่างหรืออกกำลังกาย
Share With your friends