โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ เตือน! โรคติดต่อและอันตรายที่มากับภาวะน้ำท่วมและหลังน้ำท่วม
จากสภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้น มักมีปัญหาสุขภาพอนามัยหลายด้าน เพราะกระแสน้ำจะพาสิ่งสกปรก และเชื้อโรคให้แพร่กระจาย ทำให้แหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคปนเปื้อน จึงมีโอกาสเกิดโรคระบาดได้ง่าย และควรระมัดระวังสัตว์มีพิษและของมีคม รวมถึงการเสียชีวิตจากการจมน้ำและไฟดูดไฟช็อตอีกด้วย ทั้งนี้สภาพผิวดินหลังน้ำท่วมมีความเหมาะสมสำหรับการแพร่พันธุ์ของยุง โรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก จึงมีโอกาสระบาดสูงขึ้นหลังน้ำท่วม เป็นต้น
.jpg)
.jpg)
รศ.นพ.สืบสาย กฤษณะพันธุ์ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ กล่าวว่า ควรเฝ้าระวังโรคติดต่อและอันตรายที่มากับภาวะน้ำท่วมและหลังน้ำท่วม พร้อมได้รวบรวมข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นต่อการเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม และแนวทางในการดูแลตัวเองเบื้องต้นกรณีที่ต้องเจอปัญหาน้ำท่วมสำหรับพี่น้องประชาชน ที่ต้องเผชิญเหตุการณ์ดังกล่าว
1.โรคระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่และปอดบวม
ไข้หวัด : ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยเชื้อโรคแพร่กระจายมาจากน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือสิ่งของใช้ของผู้ป่วย มักมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้เล็กน้อย คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอ จาม ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร หายได้เองภายใน 1 สัปดาห์
ไข้หวัดใหญ่ : เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ติดต่อแบบเดียวกับไข้หวัด มักมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวมาก มีน้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ เบื่ออาหาร และอ่อนเพลีย อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นปอดบวมได้
โรคปอดบวม : เกิดได้จากเชื้อหลายชนิดทั้งแบคทีเรีย ไวรัส โดยการหายใจเอาเชื้อโรคในอากาศเข้าไป หรือสำลักน้ำหรืออาหารเข้าไปในปอด ทำให้มีการอักเสบของปอด มีไข้สูง ไอมาก หายใจหอบและเร็ว ถ้าเป็นมากจะหายใจหอบเหนื่อยจนเห็นชายโครงบุ๋ม เล็บมือ เล็บเท้า ริมฝีปากซีด หรือเขียวคล้ำ กระสับกระส่าย ไม่รู้สึกตัว โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เช่น น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด, หนองในช่องเยื่อหุ้มปอด, ปอดแตกและมีลมรั่วในช่องปอด หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
การป้องกัน : ล้างมือบ่อยๆ ก่อนกินอาหาร ก่อนและหลังเตรียม/ปรุงอาหารหลังการขับถ่าย หลังหยิบจับสิ่งสกปรก หลังสัมผัสผู้ป่วย หรือสัมผัสสัตว์เลี้ยง และทุกครั้งที่กลับจากนอกบ้าน หลีกเลี่ยงการใช้มือที่ไม่ได้ล้างสัมผัสบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะตา จมูก ปาก หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยหรืออยู่ในสถานที่ที่มีคนอยู่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
2. โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร
โรคอุจจาระร่วง อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ บิด ตับอักเสบเอ และไข้ไทฟอยด์ เป็นต้น เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายโดยการกินหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป เช่น อาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารที่ทิ้งค้างคืนโดยไม่ได้แช่เย็น และไม่ได้อุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานอาหาร
โรคอุจจาระร่วง มีอาการถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกเลือด อาจมีอาเจียนร่วมด้วย
อาหารเป็นพิษ มักมีอาการปวดท้อง ร่วมกับถ่ายอุจจาระเหลว คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
โรคบิด มีอาการสำคัญคือ ถ่ายอุจจาระบ่อย อุจจาระมีมูก หรือมูกปนเลือด มีไข้ ปวดท้องและมีปวดเบ่งร่วมด้วย บางคนอาจมีอาการเรื้อรัง
โรคไข้ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย มีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาจมีอาการท้องผูก หรือบางรายอาจท้องเสียได้
การป้องกัน : ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำต้มสุก หรือน้ำสะอาด ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร หรือก่อนกินอาหาร และควรถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ กำจัดสิ่งปฏิกูล ขยะมูลฝอย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน
3. โรคไข้ฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซีส เป็นโรคติดต่อที่ระบาดจากสัตว์โดยเฉพาะหนู ติดต่อมาถึงคนได้โดยเชื้อจะออกมากับปัสสาวะหนูแล้วปนเปื้อนในน้ำ หรือดินที่มีน้ำขังหรือพื้นที่ขึ้นแฉะ เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอก หรือไชเข้าเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือผิวหนังที่แช่น้ำนาน หรืออาจติดเชื้อจากการรับประทานอาหารที่หนูฉี่รด ช่วงน้ำท่วมมักจะเกิดการระบาดได้ในหลายพื้นที่ และช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมากที่สุดคือช่วงน้ำลด เนื่องจากคนจะลุยน้ำ ย่ำโคลน เพื่อทำความสะอาดบ้านเรือน ทำให้เกิดบาดแผลจากกระจก แก้ว ตะปู และของมีคมอื่นๆเปิดโอกาสให้เชื้อเข้าร่างกายได้มากขึ้น
อาการของโรคเกิดหลังได้รับเชื้อประมาณ 4 -10 วัน โดยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะน่องและโคนขา หรือปวดหลัง บางคนมีอาการตาแดง อาจมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร หรือท้องเดิน บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน หรือตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม สับสน เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเสียชีวิตได้
การป้องกัน : หลีกเลี่ยงการย่ำหรือแช่น้ำหรือโคลนนานๆ โดยเฉพาะเมื่อมีบาดแผลตามแขน ขา มือ เท้า ถ้ามีความจำเป็นต้องย่ำหรือแช่น้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ท สวมถุงมือยาง ชำระล้างร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณบาดแผลให้สะอาด หลังจากลุยน้ำ/ขึ้นจากน้ำทันที ดูแลที่พักให้สะอาด ปราศจากหนู เก็บกวาดทิ้งขยะให้มิดชิดไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู
4. โรคผิวหนัง โรคผิวหนัง
เป็นโรคที่พบบ่อยได้แก่โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา แผลพุพองเป็นหนอง เป็นต้น เกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรค หรือความอับชื้นจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาด ไม่แห้งเป็นเวลานาน ในระยะแรกอาจมีอาการเท้าเปื่อย และเป็นหนอง ต่อมาเริ่มมีอาการคันตามซอกนิ้วเท้า และผิวหนังลอกออกเป็นขุย มีผื่น ระยะหลังๆผิวหนังที่เท้าเกิดพุพอง นิ้วเท้าหนาและแตก อาจเกิดโรคแทรกซ้อน คือ ผิวหนังอักเสบได้
ป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำโดยไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นต้องย่ำน้ำ ควรใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำ และควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ และเช็ดให้แห้ง เมื่อกลับเข้าบ้าน หากมีบาดแผล ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผล แล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่นเบตาดีน
5. โรคตาแดง
โรคตาแดงเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสแต่ถ้าไม่รับการรักษาตั้งแต่เริ่มเป็นอาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ ติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยได้แก่การสัมผัสโดยตรงกับน้ำตา ขี้ตา น้ำมูกของผู้ป่วย หรือจากใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว หรือจากแมลงวันแมลงหวี่ตอมตา หลังได้รับเชื้อประมาณ 1-2 วัน จะเริ่มมีอาการระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง โดยอาจเริ่มที่ตาข้างหนึ่งก่อน แล้วจึงลามไปตาอีกข้าง อาการมักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดูแลรักษาให้ถูกวิธี อาจเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น กระจกตาดำอักเสบ ทำให้ปวดตา และตามัว
การป้องกัน : ทำได้โดยล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และหมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนให้สะอาดอยู่เสมอ
6. ไข้เลือดออก
เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่โดยมียุงลายเป็นพาหะ อาจเกิดอาการได้ตั้งแต่ไข้ล็กน้อย หรือไข้สูงลอย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง จุดเลือดออกตามผิวหนัง หรือมีอาการรุนแรงมีเลือดออกหรือช็อคได้
การป้องกันทำได้โดยระวังอย่าให้ยุงกัด ทายากันยุง นอนในมุ้ง กำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ปิดฝาภาชนะเก็บน้ำไม่ให้มีน้ำขัง
นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังกลุ่มโรคจากอุบัติเหตุ เช่นจมน้ำ ไฟฟ้าช๊อต บาดแผลจากของมีคม ตลอดจนถูกสัตว์มีพิษเช่นงูและตะขาบกัดด้วย

รศ.นพ.สืบสาย กฤษณะพันธุ์
อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่
ศูนย์วัคซีน(Vaccine) เปิดให้บริการ
จันทร์ - ศุกร์ 08.00-16.00 น.
เสาร์ - อาทิตย์ 08.00 -12.00 น.