คำถามยอดฮิตเมื่อลูกปวดท้อง
โดย รศ.นพ. ศักดา ภัทรภิญโญกุล ศัลยแพทย์เด็ก

เมื่อลูกปวดท้อง...ปวดจนถึงขนาดต้องผ่าตัด?
1. ปวดท้องเกิดจากอะไรได้บ้าง ?
คำถามนี้กว้างมาก ถ้าจะให้ตอบทั้งหมดคงเสียเวลามาก กล่าวโดยสรุป อาการปวดท้อง อาจจะมาจากโรคภายนอกช่องท้อง หรือภายในช่องท้องก็ได้ ภายนอกช่องท้องอาจเกิดจากการบวมช้ำจากอุบัติเหตุการกระแทกที่ผนังหน้าท้องโดยตรง การ อักเสบของ ผนังหน้าท้อง จากกล้ามเนื้อเคล็ดยอกจากการเกร็งผนังหน้าท้อง งูสวัด ของปลายประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณหน้าท้อง หรือแม้กระทั่งอาการนำของโรคลมชักบางประเภท
ส่วนสาเหตุภายในช่องท้อง ก็อาจจะเกิดจากอวัยวะภายในช่องท้องเอง เช่น ลำไส้, กระเพาะอาหาร, ทางเดินน้ำดี, ตับ,ม้าม, ตับอ่อน, ไต, กระเพาะปัสสาวะ, มดลูก, ปีกมดลูก, รังไข่, เส้นเลือดแดงใหญ่ในท้องและอื่นๆอีกในเด็กสาเหตุส่วนใหญ่มาจากระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะ ลำไส้ (รวมถึงไส้ติ่ง)ทางเดินน้ำดี ถุงน้ำดี ทางเดินปัสสาวะ เช่นนิ่วและ รังไข่ในเด็กหญิง
ส่วนพยาธิสภาพก็มีแตกต่างกัน เช่น การอุดตัน, การติดเชื้อ และการขาดเลือดไปเลี้ยงเป็นต้นนอกจากนี้ พิษจากสารเคมีการใช้ยาบางชนิด หรือพิษจากเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ก็ทำให้เกิดอาการปวดจากการบีบตัวอย่างรุนแรงของกล้ามเนื้อผนังลำไส้ได้.
2. สัญญาณอาการปวดท้องในเด็ก ?
เด็กที่ปกติวิ่งเล่นซน เปลี่ยนเป็นนั่ง หรือนอน ไม่ร่าเริงอาจจะเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการเจ็บป่วย
เด็กโตมักจะบอกได้ว่าปวดท้อง และบอกตำแหน่งที่ปวดได้ ยกเว้นกรณีเด็กที่มีความบกพร่องทางสมอง เด็กออติสติค อาจจะบอกไม่ได้ แต่ก็อาจจะสื่อสารทางอื่นได้ เช่น ท่าทาง หรือแสดงออกทางอารมณ์
เด็กเล็กไม่สามารถสื่อภาษาได้ แต่แสดงออกทางการร้อง งอแง ท่าทาง งอตัว หรือไม่ให้สัมผัสบริเวณท้อง ที่มีอาการปวด ถ้าอาการปวดเป็นต่อเนื่องยาวนาน เด็กจะมีอาการซึมลง นอกจากนี้ อาจจะมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น เบื่ออาหาร ทานได้น้อยลง หรือไม่ทานอาหารเลย อาเจียน, ท้องเสีย ถ่ายเหลวถ่ายบ่อย หรือท้องผูกถ่ายอุจจาระแข็งหรือ ไม่ถ่ายอุจจาระต่อเนื่องกันหลายวัน
3. ปวดท้องแบบไหน ต้องพาไปหาแพทย์ หรือเป็นโรคที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ?
ข้อแรกที่พึงสังเกตคืออาการปวด(ท้อง)ที่รุนแรง หรือปวดมาก เช่น เล่นเพลินอยู่ แล้วหยุดเล่น นอนหลับอยู่แล้วปวดท้องจนตื่นขึ้น เด็กจะชี้ที่บริเวณท้อง หรือเดินตัวงอ หรือนั่งอยู่นิ่ง ๆไม่ค่อยขยับตัว หรือมีอาการดิ้นทุรนทุรายเวลาปวด
ข้อ2. อาการปวดท้องแบบฉับพลันทันทีคั่นด้วยอาการปกติ และเป็นซ้ำๆบ่อยๆ แสดงถึงการบีบตัวรุนแรง
ของลำไส้ หรืออวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อ มีอาการอุดตัน เช่น ท่อไต,ท่อน้ำดี หรือถุงน้ำดี.
ข้อ 3. อาการปวดที่เป็นต่อเนื่องยาวนาน และไม่ดีขึ้นด้วยวิธีใดๆเช่น เปลี่ยนท่าทาง หรือรับประทานยาแก้ปวด.
ข้อ 4. หน้าท้องแข็งไม่ยอมให้แตะต้องบริเวณท้อง
ข้อ 5. อาการอื่นๆที่มีร่วมกับอาการปวด เช่น มีไข้,อาการอ่อนเพลีย เป็นลมหมดสติ, อาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน เป็นอาหาร หรืออาเจียนเป็นน้ำดี ถ่ายเหลวเป็นมูก ถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะเป็นเลือด หรืออาการตาเหลืองตัวเหลือง(ดีซ่าน) หรือตัวซีด หน้าซีด
ในประเทศไทย ก็เหมือนกับทุกท้องที่ในเขตร้อน โรคปวดท้องเฉียบพลันมีสาเหตุที่พบบ่อยๆ เหมือนกันคือ
โรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร หรือโรคท้องร่วงนั่นเอง ส่วนใหญ่ 99% รักษาโดยใช้ยา ไม่ต้องผ่าตัด ยกเว้นกรณีที่มีการติดเชื้อลุกลามออกนอกผนังลำไส้หรือลำไส้แตกทะลุ,
นอกนั้นก็เป็น ภาวะอื่นๆ เช่นแพ้นม แพ้อาหาร หรือท้องผูกปวดท้องจากอาหารเป็นพิษ สารพิษ สารเคมี เช่น สารตะกั่ว หรือยาฆ่าแมลงเช่น สารDDT เป็น ต้น
สำหรับสาเหตุของอาการปวดท้องที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดในเด็ก ที่พบบ่อยๆ แบ่งคร่าวๆ เป็น/2กลุ่มคือกลุ่มที่มีการอักเสบติดเชื้อ ได้แก่ ไส้ติ่งอักเสบ และกลุ่มที่เกิดจากการอุดตัน เช่นลำไส้อุดตัน ลำไส้กลืนกัน ทางเดินอาหารบิดพัน (ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุแห่งการติดเชื้อตามมาได้ถ้าลำไส้เน่าหรือแตกทะลุ) ทางเดินน้ำดีอุดตัน ถุงน้ำดีอักเสบ ถุงน้ำดีโป่งพอง ฝีในตับ ตับอ่อนอักเสบ และรังไข่บิดพันในเด็กหญิงเป็นต้น

โดย รศ.นพ. ศักดา ภัทรภิญโญกุล ศัลยแพทย์เด็ก
นัดหมายออนไลน์ที่ 
คลินิกกุมารเวชกรรม เปิดให้บริการ
จันทร์ - อาทิตย์ 07.00 – 20.00 น.
หยุดให้บริการชั่วคราวช่วงเวลา 20.00 - 22.00 น.