เราทุ่มเท่เพื่อการรักษาที่มีคุณภาพ

ทำอย่างไรเมื่อเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

blog img
16 เมษายน 2567 08:08 น.

ทำอย่างไรเมื่อเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หมายถึง หลอดเลือดหัวใจอุดตันโดยสิ้นเชิง กล้ามเนื้อหัวใจเริ่มตายไป อาการอาจเป็นอยู่นานกว่า 15 นาที และไม่ทุเลาโดยการพักหรือได้รับยา เมื่อเกิดอาการเจ็บเค้นหัวใจ อย่ารอเวลานานหลายชั่วโมงกว่าจะขอความช่วยเหลือเพราะเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือดมาเลี้ยงนั้นจะเริ่มตายภายในไม่กี่นาที ในชั่วโมงแรกที่เกิดอาการเจ็บเค้นหัวใจถือเป็น “ชั่วโมงทอง” ที่ท่านควรรีบแก้ไขในทันทีจะช่วยบรรเทาความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจและรักษาชีวิตของท่านไว้ได้

shutterstock_2341641749.jpg

ท่านมีสิทธิ์หัวใจวายหรือไม่.?

อาการเจ็บเค้นหัวใจเป็นสัญญาณเตือนว่า “หลอดเลือดหัวใจของท่านเริ่มตีบแคบลง” ท่านอาจเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ ถ้าลักษณะของอาการเจ็บเค้นเปลี่ยนแปลงไป เช่น เจ็บบ่อยขึ้นหรือเจ็บหน้าอก แม้ไม่ได้ออกแรงมาก เป็นต้น หากท่านเคยมีประวัติหัวใจวายมาก่อนหรือมีปัจจัยเสี่ยงด้วยโอกาสที่จะเกิดหัวใจวายยิ่งสูงมากขึ้น

“ในแต่ละปีมีคนมากมายที่มีอาการหัวใจวายและต้องเสียชีวิตไป แต่ถ้ารู้จักอาการของหัวใจวายและวิธีช่วยเหลือ ก็จะไม่เสียชีวิตเสมอไป”

อาการอย่างไรเรียกว่าเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจ

1.เจ็บ แน่นหรือรู้สึกไม่สบายตรงกลางหน้าอก

2.อาการเจ็บหน้าอก ร้าวไปที่คอ แขนหรือขากรรไกร

3.เหงื่อออกมากจนรู้สึกหนาวบริเวณลำตัวส่วนบนอาจมีอาการวิงเวียน หายใจไม่อิ่มและคลื่นไส้ร่วมด้วย

4.อาการเหล่านี้เกิดขณะที่ออกกำลังกายหรือมีอารมณ์เครียดอย่างกระทันหัน

5.อาการเหล่านี้มักจะคงอยู่นานราว 1 – 10 นาที

6.รู้สึกหายใจไม่ทันขณะที่ออกกำลังกาย อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

7.รู้สึกแน่นอึดอัดท้องอย่างมาก ถ้าออกกำลังกายทันทีภายหลังรับประทานอาหาร

https://www.shutterstock.com/th/image-photo/worried-elder-senior-man-feeling-bad-2253015803

ใครที่เสี่ยงต่อการเกิดหัวใจวาย

1.ผู้ที่มีไขมันในเลือดผิดปกติและชอบทานอาหารที่มีไขมันสูง

2.ผู้ที่สูบบุหรี่จัด

3.ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง

4.ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน

5.คนอ้วนและออกกำลังกายไม่สม่ำเสมอ

6.เครียดง่ายและเครียดบ่อย

7.คนในครอบครัวของท่านมีประวัติโรคหัวใจมาก่อน

เมื่อเริ่มเกิดอาการหัวใจวาย ทุกนาทีมีค่า

1.เตรียมตัวให้พร้อม : เมื่อเกิดหัวใจวายแล้ว ท่านไม่ควรเสียเวลาแม้แต่น้อย ควรบอกให้คนรอบข้างรู้และเข้าใจด้วย จะช่วยชีวิตท่านเองได้

2.บอกคนรอบข้างเมื่อมีอาการ : คนรอบข้างของท่านจะได้ให้การดูแลท่าน ให้จับเวลาว่าอาการเจ็บแน่นหน้าอกเป็นอยู่นานเพียงใด และถ้ามีไนโตรกลีเซอรีนที่แพทย์เคยให้อยู่แล้วก็อมได้เลย

3.เลือกทางที่เร็วที่สุด : ถ้าท่านเจ็บเค้นหน้าอกนานกว่า 15 นาที โทรเรียกรถพยาบาลเร็วที่สุดหรือขอให้ใครขับรถไปส่งที่โรงพยาบาล อย่าพยายามขับรถไปเองเด็ดขาด

4.เมื่อไปถึงโรงพยาบาล : ยิ่งท่านไปถึงโรงพยาบาลเร็ว โอกาสที่จะลดความสูญเสียยิ่งมีมากขึ้น แพทย์จะเป็นผู้เลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด เพื่อบรรเทาอาการของท่านให้หายได้

5.บอกเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทันทีว่าท่านมีอาการเจ็บเค้นหน้าอก : เจ้าหน้าที่จะรีบตามแพทย์มาทำการดูแลท่านรวมไปถึงการให้ยาและรักษาอื่นเพื่อบรรเทาอาการ ถึงแม้ว่าอาการเจ็บเค้นหน้าอกนั้นจะไม่ได้เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ท่านก็ยังจะได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาเพื่อให้รู้สึกดีเป็นปกติ

6.ยาละลายลิ่มเลือด : แพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าท่านต้องใช้ยานี้หรือไม่ ยาเหล่านี้มีกลไกการออกฤทธิ์หลายประการ เช่น ตัวยาออกฤทธิ์ละลายหรือสลายลิ่มเลือดโดยตรงหรือตัวยาไปกระตุ้นให้ร่างกายสลายลิ่มเลือดให้เร็วมากขึ้นกว่าปกติ การที่ท่านมาถึงโรงพยาบาลเร็วมากเพียงใด ผลการรักษาจะดีมากขึ้นตามไปด้วย

7.การพักฟื้นในโรงพยาบาล : ขอให้เตรียมใจว่าต้องอยู่ในโรงพยาบาลอย่างน้อย 2 – 3 วัน ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบให้ละเอียดว่ากล้ามเนื้อหัวใจเสียหายไปแค่ไหน และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนทั้งหลาย ท่านอาจได้รับการตรวจเลือด ตรวจคลื่นหัวใจ เดินสายพาน หรืออัลตราซาวด์หัวใจ เมื่อนำผลการตรวจทั้งหลายมาประมวลเข้าด้วยกัน แพทย์จจะตัดสินใจว่าจะให้การดูแลรักษาต่อไปอย่างไร โดยทั่วไปมักเป็นการให้ยารับประทาน แต่ก็มีบางกรณีที่แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจหัวใจเพิ่มเติม โดยการฉีดสีตรวจหลอดเลือดหัวใจหรือแนะนำให้ทำบอลลูน หรือทำการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ

• การตรวจโดยการฉีดสีเข้าหลอดเลือดหัวใจ แพทย์จะสอดสายยางเล็กๆเข้าไปในหหลอดเลือดของหัวใจ เพื่อตรวจหาการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจ

• การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและขดลวด โดยการสอดสายสวนไปยังบริเวณหลอดเลือดหัวใจที่ตีบแล้ว ขยายบอลลูนที่อยู่ภายในสายสวน ร่วมกับวางขดลวดค้ำยันเพื่อขยายส่วนของหลอดเลือดที่ตีบ วิธีนี้มักใช้รักษาแทนการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ

• การผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ คือ การนำเอาหลอดเลือดจากส่วนอื่นของร่างกายมาทำเป็นทางเบี่ยงเพื่อให้เลือดสามารถไหลข้ามส่วนที่อุดตันไปได้

• การติดตามผลการรักษา เพื่อช่วยให้ท่านดำเนินวิถีชีวิตได้ตามปกติ แพทย์จะให้คำแนะนำว่าควรปฏิบัติอย่างไร ในขณะที่ท่านพักฟื้นต่อที่บ้าน รวมถึงเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การใช้ยาแอสไพรินหรือยาอื่นๆ ซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการซ้ำอีก

https://www.shutterstock.com/th/image-photo/mature-woman-wife-calling-emergency-talking-2283781787

กลับสู่ชีวิตที่เป็นสุขอีกครั้ง

การที่ท่านรอดพ้นมาจากภาวะหัวใจวายได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย เริ่มต้นจากตัวท่านที่เรียนรู้อาการและบอกให้สมาชิกในครอบครับทราบ การรู้จักเตรียมพร้อมและดำเนินการตามที่วางแผนไว้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดอาการเจ็บเค้นหัวใจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจะช่วยให้โอกาสหายและกลับสู่ชีวิตประจำวันได้อีกครั้ง

shutterstock_2214684375.jpg