.jpg)
โรคมะเร็งตับเป็นโรคที่มักจะแสดงอาการให้ทราบเมื่อโรคมีการลุกลามไปมากแล้ว จึงทำให้ตรวจพบโรคได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น หากเราสามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งตับได้ในระยะแรกๆที่เริ่มมีมะเร็งเกิดขึ้นก็สามารถช่วยผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยืนยาวขึ้น
อาการที่พบบ่อยของมะเร็งตับ
• น้ำหนักลด
• แน่นท้อง หรือทานได้น้อยลง
• เบื่ออาหาร
• คลื่นไส้อาเจียน
• ตับโต โดยจะคลำได้ก้อนใต้ชายโครงขวา
• ม้ามโต โดยจะคลำได้ก้อนใต้ชายโครงซ้าย
• ปวดท้องหรือปวดร้าวบริเวณไหล่ด้านขวา
• บวมหรือมีน้ำในท้อง
• คันตามตัว
• ตัวเหลืองหรือดีซ่าน
• บางรายอาจมีไข้ เส้นเลือดบนผิวท้องเห็นชัดเจนขึ้น มีรอยช้ำหรือเลือดออกง่าย
บางครั้งการเปลี่ยนแปลงของสารต่างๆในเลือดจากโรคมะเร็งตับ ทำให้เกิดอาการต่างๆ นำไปสู่การช่วยวินิจฉัยมะเร็งตับ เช่น
• ค่าการทำงานตับเปลี่ยนแปลงไปในคนที่มีตับอักเสบเรื้อรังหรือตับแข็ง
• ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงผิดปกติทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ท้องผูก คลื่นไส้อาเจียน เกิดตะคริว
· ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้หน้ามืด เป็นลมง่าย
· ภาวะเต้านมโตผิดปกติในเพศชาย เป็นต้น
วิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ
• ซักประวัติ โดยเฉพาะความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งตับ เช่นเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง หรือโรคตับแข็งมาก่อน
• การตรวจร่างกาย เพื่อดูลักษณะดีซ่าน (ตาเหลืองหรือตัวเหลือง) คลำตับ และต่อมน้ำเหลือง
• การตรวจเลือด ดูการทำงานของตับ (Liver function test) ตรวจหาค่ามะเร็งตับ แอลฟ่าฟีโตโปรตีน ( Alpha-fetoprotein : AFP )
• การตรวจอัลตราซาวน์ เป็นการตรวจเบื้องต้นที่ง่ายที่สุดในการระบุโรคมะเร็งตับ การตรวจอัลตราซาวน์ช่องท้องจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสุขภาพพื้นฐานในปัจจุบัน
• การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ( CT SCANS ) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ( MRI ) ในกรณีที่สงสัยมะเร็งตับ แพทย์จะส่งตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์เพิ่มเติม เพื่อ
- ระบุตำแหน่ง ขนาดของโรคมะเร็งตับ
- บอกการแพร่กระจาย หรือระยะของโรค
- ช่วยระบุตำแหน่งในการเจาะชิ้นเนื้อ เพื่อยืนยันคำวินิจฉัยโรค
• การสแกนกระดูก (Bone scan) และเอ็กซเรย์ปอด (Chest X-ray)
โรคมะเร็งตับเมื่อมีการลุกลามออกไป มักมีการแพร่กระจายไปยังปอด และกระดูก ดังนั้นการตรวจแสกนกระดูกช่วยระบุระยะของโรคที่แท้จริงก่อนเริ่มต้นการรักษา
การตรวจอื่นๆ บางครั้งในการวินิจฉัยโรค แพทย์จำเป็นต้องทำการตรวจพิเศษบางอย่าง เพื่อช่วยให้วางแผนการรักษาโรคได้ถูกต้อง แม่นยำขึ้น เช่น
• การส่องกล้อง (Laparoscopy) การส่องกล้องจะทำในห้องผ่าตัด หลังการวางยาสลบ โดยแพทย์จะสอดกล้องขนาดเล็กเข้าไปดูลักษณะของตับ รวมทั้งอวัยวะภายในอื่นๆ รวมถึงตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ หรือบางครั้งที่ผ่าตัดรักษา หากก้อนอยู่ในตำแหน่งที่สามารถผ่าตัดผ่านกล้องได้อย่างปลอดภัย
• การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา(Biopsy) การตัดชิ้นเนื้อเพื่อช่วยวินิจฉัยโรค จะทำในรายที่การตรวจอื่นๆยังไม่ชัดเจนนักว่าเป็นมะเร็งตับหรือไม่ การตัดชิ้นเนื้อทำโดยการสอดเข็มขนาดเล็กผ่านผิวหนังเข้าไปในตับโดยอาศัยเครื่องอัลตราซาวน์ช่วยระบุตำแหน่ง
การผ่าตัดผ่านกล้องรักษาโรคของตับมีการพัฒนาขึ้นมากโดยเครื่องมือพิเศษเพื่อวินิจฉัยและช่วยรักษาก้อนในตับ รวมไปถึงโรคมะเร็งตับ
นพ.จุมพต บ่อเกิด
ผู้อำนวยการศูนย์ผ่าตัดผ่านกล้อง
MIS Network Thailand
ศูนย์ผ่าตัดผ่านกล้อง เปิดให้บริการ
จันทร์ - ศุกร์ 08:00 - 17:00
เสาร์ 10:00 - 12:00