เราทุ่มเท่เพื่อการรักษาที่มีคุณภาพ

BHH Medical Center

คลินิกนอนกรน

Snoring Clinic.png

คลินิกนอนกรน ให้บริการ วินิจฉัย และรักษา ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งเป็นภาวะความผิดปกติอย่างหนึ่งของการหายใจที่เกิดขึ้นในระหว่างนอนหลับ ซึ่งมีอันตรายและอาจทำให้เกิดความผิดปกติอื่นตามมาจนถึงเสียชีวิตได้

พบอุบัติการณ์การเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ประมาณ 25% ในผู้ชาย และ 10 % ในผู้หญิง โดยสามารถพบผู้ป่วยได้ในทุกกลุ่มอายุ และอุบัติการณ์จะเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ พบได้บ่อยในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ หรือมีลักษณะทางกายวิภาคที่ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจง่ายกว่าปกติ เช่น กล้ามเนื้อของเพดานอ่อนหย่อน ต่อมทอนซิลมีขนาดใหญ่ หรือขากรรไกรมีขนาดเล็กกว่าปกติ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่ได้สังเกตถึงความผิดปกติในขณะหลับของตนเอง บ่อยครั้งที่ผู้พบความผิดปกติเป็นคู่สมรสหรือคนใกล้ชิด อาการของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับที่สำคัญได้แก่

  • นอนกรน
  • เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • นอนหลับไม่สนิท นอนกระสับกระส่ายมาก
  • สะดุ้งตื่นกลางดึก เพราะสำลักเหมือนขาดอากาศหายใจ
  • รู้สึกคอแห้งหรือเจ็บคอเมื่อตื่นนอน
  • ปวดศีรษะหลังตื่นนอนตอนเช้า
  • บุคลิกภาพหรือสมาธิเปลี่ยนไป หลงลืมบ่อย หงุดหงิดง่ายกว่าปกติ
  • ง่วงนอนหรือรู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลียมากในเวลากลางวัน
  • เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน เกิดปัญหาการเรียนตกต่ำ ทำให้การทำงานขาดประสิทธิภาพ และมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายเมื่อเทียบกับคนปกติ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และโรคอ้วนอีกด้วย

แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับได้จากประวัติการนอนและการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติระหว่างการนอนหลับ (Polysomnogram, PSG) ซึ่งเป็นการตรวจโดยให้ผู้ป่วยนอนในห้องนอนที่เป็นส่วนตัวเป็นเวลาหนึ่งคืน โดยจะมีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับ คลื่นไฟฟ้าสมอง การเคลื่อนไหวของลูกตา การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ การเต้นของหัวใจ ลักษณะการหายใจ รวมถึงปริมาณออกซิเจนในเลือด โดยการติดขั้วโลหะ (Electrode) ที่บริเวณศีรษะและใบหน้า และเซ็นเซอร์ที่จมูก ขา หน้าอก และหน้าท้อง เพื่อใช้ในการวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของภาวะการหยุดหายใจขณะนอนหลับ

การเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจการนอนหลับของคุณ

  • หลีกเลี่ยงการงีบหลับช่วงกลางวันของวันที่นัดหมายเพื่อมาตรวจการนอนหลับ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน (กาแฟ ชา และโคล่า)
  • สระผมให้สะอาด งดใช้ครีมนวดผม และน้ำมันแต่งผมใดๆ ในวันที่มาทำการตรวจ
  • นำยาที่คุณจำเป็นต้องรับประทานมาตามปกติ ยกเว้นยาที่แพทย์งด
  • สามารถนำชุดนอนหรือเครื่องนอนประจำตัวมาได้