คำแนะนำผู้ป่วยก่อนการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น
Esophagogastroduodenoscopy, EGD
1.ข้อมูลเบื้องต้น
การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น คือ การส่องกล้องตรวจเยื่อบุผิวหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น โดยการสอดสายยางเล็กๆที่สามารถงอได้ ปลายสายมีกล้องถ่ายภาพขนาดเล็กและแสงสว่าง ซึ่งสามารถผ่านเข้าทางช่องปาก ทำให้เห็นภาพกล่องเสียง หลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นได้ โดยแพทย์จะดูผ่านจอภาพหรือผ่านทางกล้อง เพื่อวินิจฉัยว่าอะไรเป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วยและอาจมีการตรวจชิ้นเนื้อจากบริเวณที่ผิดปกติ เพื่อยืนยันการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคได้อย่างถูกต้อง และแม่นยำมากขึ้น
2.ความเสี่ยงและผลข้างเคียงของการตรวจรักษา
2.1.ความเสี่ยงทั่วไป
• เจ็บคอ สาเหตุจากการเสียดสีของกล้อง
• คอชา เกิดจากยาชาเฉพาะที่
• ท้องอืด อาการนี้เกิดได้บ่อยเนื่องจากแพทย์ต้องเป่าลมเข้ากระเพาะอาหารขณะทำการส่องกล้อง แต่อาการนี้เกิดเพียงชั่วคราว อาการจะดีขึ้นเมื่อร่างกายขับลมออกมา
2.2.ความเสี่ยงเฉพาะด้าน
• กระเพาะและหลอดอาหารทะลุ เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก (1:1,000) เมื่อเกิดภาวะเสี่ยงนี้ผู้ป่วย ต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาผ่านการส่องกล้องหรือเข้ารับการผ่าตัดเย็บซ่อมแซม
• มีภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร เนื่องจากตัดชิ้นเนื้อ ซึ่งโดยปกติแผลจากการตัดชิ้นเนื้อจะมีขนาดเล็กและเลือดหยุดได้เองแต่ถ้าผู้ป่วยรับประทานยาในกลุ่มยาละลายลิ่มเลือด อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะเลือดออกภายในกระเพาะได้ หากเกิดภาวะตกเลือด แพทย์จะทำการรักษาโดยการห้ามเลือดผ่านการส่องกล้องหรือทางรังสีร่วมรักษาหรือผ่าตัดห้ามเลือด
• สำลักอาหารเข้าปอด เนื่องจากงดน้ำและอาหารไม่เพียงพอโอกาสเกิดน้อยกว่า 1:10,000
• มึนงงจากการได้รับยานอนหลับ ยาแก้ปวดและได้รับผลกระทบจากการได้รับยา เช่น การแพ้ยา เป็นต้น ภาวะนี้เกิดน้อยมากประมาณ 1:10,000 สามารถเฝ้าระวัง แก้ไขได้ด้วยยาต้านฤทธิ์ยาแก้ปวดหรือยาต้านฤทธิ์ยานอนหลับ
• ฟังหักหรือมีการเลื่อนหลุดของฟัน หากผู้ป่วยมีฟันโยกหรือฟันปลอมชนิดไม่ยึดติด ควรถอดก่อนการส่องกล้อง
3.การปฏิบัติตัวก่อน – หลัง
3.1.การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยก่อนส่องกล้อง
3.1.1.งดน้ำและอาหารทุกชนิด ตั้งแต่เที่ยงคืนหรืออย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมงก่อนตรวจ เพื่อป้องกันการอุดกั้นทางเดินหายใจที่อาจเกิดขึ้นจากการอาเจียนและสำลักเศษอาหารเข้าไปขณะทำหัตถการ หากมีความจำเป็นต้องรับประทานยาอย่างอื่น ให้ปรึกษาแพทย์ผู้ตรวจหรือแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำห้องส่องกล้อง
3.1.2.รักษาความสะอาดของช่องปากและฟัน (คืนวันก่อนตรวจและเช้าวันตรวจ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อของช่องปากและทางเดินหายใจส่วนต้น ในกรณีสวมฟันปลอมชนิดที่สามารถถอดออกได้ ให้ถอดออกก่อนส่องกล้อง เพื่อป้องกันการเลื่อนหลุด และเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ
3.1.3.ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าท่านมีโรคประจำตัวใดบ้างหรือมีประวัติแพ้ยา เช่า ยาชา, ยาแก้ปวด, ยานอนหลับ หากผู้ป่วยรับประทานยาต้านการเกาะตัวของเกร็ดเลือด เช่น aspirin, clopidogrel (Plavix), pletaal หรือยาต้านการแข็งเลือด Orfarin, Warfarin ต้องแจ้งแพทย์และควรงดยาดังกล่าวก่อนทำการตรวจอย่างน้อย 7 วัน เพื่อป้องกันการตกเลือด หากมีข้อสงสัย เกี่ยวกับยาที่ใช้ประจำว่าจะมีผลต่อการตรวจหรือไม่ ให้ปรึกษาแพทย์ผู้ตรวจ
3.1.4.ไม่ควรนำของมีค่ามาโรงพยาบาลในวันที่ทำการส่องกล้อง ท่านที่ใส่ฟันปลอม หรือ คอนเทคเลนส์ ให้ถอดออกก่อนเข้าห้องตรวจ
3.1.5.ควรมาถึงโรงพยาบาลก่อนเวลาตรวจอย่างน้อย 1 ชั่วโมง (พร้อมญาติ) กรณีที่เดินทางมาด้วยรถส่วนตัวต้องมีญาติที่สามารถขับขี่ยานพาหนะแทน เนื่องจากหลังได้รับยาคลายกังวลหรือยาแก้ปวดจะทำให้สมรรถภาพในการขับขี่ลดลงได้ใน 24 ชั่วโมง
3.2.การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยหลังส่องกล้อง
3.2.1.ให้ผู้ป่วยนอนพักบนเตียง เพื่อสังเกตอาการประมาณ 30 – 60 นาทีหรือจนกว่าจะตื่นดี
3.2.2.สังเกตอาการผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ปวดท้องรุนแรง, อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด, หายใจหอบเหนื่อย, หายใจตื้นหรือหยุดหายใจ, ความดันโลหิตต่ำ, วิงเวียนหน้ามืดเป็นลม, หลับลึกปลุกตื่นยาก ให้รีบแจ้งแพทย์ทันที
3.2.3.อาการชาในลำคอจะหายไปภายใน 1 ชั่วโมง ในระหว่างนี้ให้งดน้ำและอาหารไว้ก่อน จนกว่าอาการชาจะหายไป
3.2.4.เมื่ออาการชาในลำคอหายไป ให้ทดลองทานขนมปัง ถ้าไม่มีอาการสำลัก ให้รับประทานอาหารอ่อน ในบางรายอาจมีเจ็บบริเวณลำคอบ้างเล็กน้อย เนื่องจากการใส่กล้องตรวจ แต่อาการจะหายไปในไม่ช้า
3.2.5.ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ตามนัด (โดยเฉพาะในรายที่มีการส่งชิ้นเนื้อตรวจ เพื่อฟังผลชิ้นเนื้อ) มาพบแพทย์ก่อนนัดหากมีอาการแทรกซ้อนหรือรับยา
3.2.6.เมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ ควรมีผู้ดูแลระหว่างเดินทางกลับ ห้ามขับรถหรือ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ไม่ควรขึ้นที่สูง ภายใน 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับยานอนหลับ ยาแก้ปวดระหว่างการส่องกล้อง เมื่อผู้ป่วยกลับบ้านพยาบาลจะทำการโทรเยี่ยมอาการหลังส่องกล้อง
4.ทางเลือกอื่นๆ
4.1.การตรวจวินิจฉัยโดยการกลืนแป้ง (Barium Swallow)
4.2.การตรวจวินิจฉัยโดยการทำ (UGI Barium study)