เราทุ่มเท่เพื่อการรักษาที่มีคุณภาพ

โรคเส้นเลือดในสมองตีบหรืออุดตัน

โรคเส้นเลือดในสมองตีบหรืออุดตัน

16 เมษายน 2567 08:07 น. Bangkok Hospital Hat Yai

โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 รองจากโรคมะเร็งและโรคหัวใจ

โรคหลอดเลือดในสมองทำให้เกิดกลุ่มอาการต่างๆได้หลายอย่าง เช่น

1.เส้นเลือดอุดตัน ทำให้มีอัมพฤกษ์หรืออัมพาตของแขน ขา หน้าหรือลิ้นทำให้พูดไม่ชัด กลืนอาหารลำบาก

2.เส้นเลือดในสมองแตก ก็จะทำให้มีก้อนเลือดออกมาทำลายเนื้อสมอง ทำให้มีอาการปวดศรีษะรุนแรง วูบ แล้วเป็นอัมพาตคล้ายกับอาการเส้นเลือดอุดตัน

3.สมองขาดเลือดไปเลี้ยงชั่วคราว จากความดันต่ำ เส้นเลือดตีบหรือโลหิตจาง อาจทำให้มีอาการวิงเวียน มึนงง ชาครึ่งซีก แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกไปชั่วขณะ เป็นต้น เซลล์และเนื้อตัวสมองจะมีอาการขาดเลือดหรือขาดออกซิเจนในระยะหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อมีอาการของหลอดเลือดอุดตัน ก็ต้องเข้าทำการรักษาอย่างเร่งด่วนภายใน 3 ชั่วโมง โอกาสฟื้นตัวของสมองส่วนที่ขาดเลือดและส่วนบริเวณรอบๆก็จะมีมากกว่าที่จะรอไว้นานเกิน 3 ชั่วโมง

การรักษาจะแบ่งได้เป็นระยะต่างๆ ดังนี้

1.ในระยะเริ่มแรกเมื่อผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะไปที่แผนกฉุกเฉิน แพทย์ก็จะตรวจรักษา โดยทั่วไปจะตรวจดูว่าความดันโลหิตของผู้ป่วยสูงหรือไม่ ผู้ป่วยเป็นเบาหวาน โรคหัวใจ หัวใจเต้นผิดปกติ ไขมันในเลือดสูง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยของความเสี่ยงในผู้ป่วยอัมพาต ซึ่งต้องได้รับการรักษาไปพร้อมๆกัน ต่อมาแพทย์ทางระบบประสาท ก็จะพิจารณาถึงตำแหน่งของหลอดเลือดที่เกิดปัญหาและความรุนแรงของโรค เพื่อที่จะพิจารณาการรักษาขั้นต่อไป

2.ก่อนย้ายผู้ป่วยขึ้นไปที่ห้องพัก หากผู้ป่วยหมดสติ หายใจไม่ดีหรืออัมพาตครึ่งซีก กลืนอาหารไม่ได้ เรามักจะนำผู้ป่วยทำการเอ็กซเรย์สมองก่อน แล้วจึงนำผู้ป่วยไปที่ห้องผู้ป่วยหนักเพื่อทำการบำบัดต่อไป หากผู้ป่วยมีอาการไม่มากอาจให้นอนพักในห้องพักผู้ป่วยธรรมดาได้ แต่ต้องมีคนดูแลใกล้ชิดแล้วจึงทำการตรวจพิเศษ

3.การดูแลรักษา ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ทางระบบประสาท ซึ่งในระยะแรกหากมาโรงพยาบาล ภายใน 3 ชั่วโมง และมีข้อบ่งชี้ชัดเจน ยาละลายเลือดกลุ่มหนึ่งอาจจะได้ผลดี แต่ราคาค่อนข้างแพงแต่ก็ให้ผลดีเพราะผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้โดยไม่ทุพพลภาพหรือมีโอกาสน้อย นอกเหนือไปจากนั้นการใช้ยาทำให้เลือดไม่แข็งตัวจะช่วยได้ แต่แพทย์จะพิจารณาถึงเวลาและสภาพของผู้ป่วยด้วยว่า ควรจะให้เมื่อใด อนึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ เช่น หัวใจขาดเลือดหรือเต้นผิดปกติหรือเบาหวานที่ควบคุมลำบาก ควรให้อายุรแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมทำการรักษาด้วย

4.หลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาไปแล้ว อาการยังคงที่หรือดีขึ้นภายใน 2 วัน ก็ควรจะเริ่มทำกายภาพบำบัดและฝึกช่วยตัวเองในชีวิตประจำวัน แม้ว่าจะทุพพลภาพก็สามารถดูแลตัวเองได้ระดับหนึ่ง

5.หลังจากผู้ป่วยฟื้นแล้วกลับบ้านได้ ผู้ป่วยควรจะต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอัมพาตซ้ำสองหรือเส้นเลือดอุดตันซ้ำ

shutterstock_638826565.jpg